ที่มา pawoot
หลังจากมีหนังสือพอคเก็ตบุ๊คหลายเล่ม เขียนข้อดีและด้านสว่างของอีเบย์ออกมาหลายเล่ม โดยระบุสรรพคุณตั้งแต่หน้าปกเลยว่า จะร่ำรวยเงินทองถ้าได้ค้าขายผ่านอีเบย์..เวบไซต์ขายของชื่อดังของโลก กระทั่งงานไอที “คอมเวิลด์” ก็ยังโปรโมทให้คนไทยไปประมูลโน้ตบุ๊คเลอโนโวรุ่นลายเซ็น “โรนัลดินโญ” ผ่านอีเบย์
วันนี้ผมขออาสาพาไปดูอีกด้านหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครพูดถึง เป็นด้านที่มืด หรือแสงสลัว ที่อยากให้ภาครัฐ กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปศึกษาและหาทางคุ้มครองผู้ซื้อผู้ขายของคนไทยด้วย
ก่อนอื่น ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า อีเบย์ “ยังเป็นอาวุธ” สำหรับเราๆ ท่านๆ หรือผู้ค้า “รายย่อย” ที่ต้องการทำการค้ากับต่างประเทศที่ดีที่สุดครับ
อีเบย์ คือเวบไซต์ขายของระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญก็คือ เป็นการค้าขายผ่านกลไกการ “ประมูล” ทำให้ได้ลุ้น และได้สินค้าราคาพิเศษ นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมาก ทำให้ตลาดนี้มีความคึกคักสูง มีการซื้อขายสินค้าและบริการแปลกๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น อาทิเช่น ขายที่ดินบนดวงจันทร์ หรือประกาศขอซื้อผมของบริทนีย์ สเปียร์ ดาราสาวอื้อฉาวแห่งยุค เป็นต้น
เปรียบไปแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรไปกับ “สวนจตุจักรออนไลน์” บวก “เปิดท้ายขายของ” โดยมีผู้ค้ารายย่อย หรือรายใหญ่ ซื้อขายผ่านเวบไซต์นี้กันวันละหลายๆ ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้คนธรรมดาสามัญชนสามารถทำธุรกิจข้ามชาติได้โดยไม่ต้องเปิดแอลซีกับแบงก์ ไม่ต้องยุ่งเรื่องชิปปิ้งและศุลกากร ไม่ต้องมีบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ต้องมีลูกน้องมากมาย แค่คนเดียว ก็สามารถทำการค้าขายกับต่างชาติได้แล้ว
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าอีเบย์เหมาะกับคนไทยเป็นอย่างมาก ช่วยให้คนไทยขายสินค้าแข่งกับทั่วโลกได้ ขายแข่งสู้กับ “สิงคโปร์” ได้ ทั้งนี้ ดังที่ทราบว่าคนสิงคโปร์เก่งกว่าคนไทยก็เฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ ความใจกล้า กล้าค้ากล้าขาย ในขณะที่ไทย อ่อนเรื่องพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่อ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ด้วยกลไก “ประมูลขายของแบบอัตโนมัติ” ทำให้คนไทย “ลดการพูดภาษาอังกฤษ” และลดภาวะการ “พูดต่อรองราคาด้วยภาษาอังกฤษ” ลงไปได้
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมสถิติการค้าบนอีเบย์ พบว่า “คนไทยขายของเก่งกว่าสิงคโปร์” โดยมีมูลค่ารวมของสินค้าและความหลากหลายของสินค้ามากกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และน่าเก็บมาส่งเสริมสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ
อย่างไรก็ตาม อีเบย์ก็ยังมีด้านมืด ซึ่งผมคิดว่าหลายคนต้องระวัง และต้องไม่หลงเชื่อว่า อีเบย์จะเป็นโลกใสสะอาด ไม่มีคนชั่ว หรือคนโกงอยู่
อนึ่ง โมเดลธุรกิจของอีเบย์ จะเป็นธุรกิจที่ให้บริการ “พื้นที่หน้าร้านอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อให้คนค้นหาและซื้อขายสินค้า โดยอีเบย์ทำตัวเป็นคนกลาง ได้เงินผ่านระบบค่าคอมมิชชั่นผ่านการซื้อขาย ค่าโฆษณาขายสินค้า ค่าธรรมเนียม และค่าผ่านเงิน (เพย์เพาล์-Paypal.com) รวมแล้วกินเงินหลายต่อ
ดังนั้น จุดแรกที่คนไทยต้องระวังก็คือ ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าคอมมิชชั่นต่างๆ ที่รวมแล้ว อาจจะทำให้คนไทยขายของขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องแรกที่อยากให้ระวังไว้ เพราะมีตัวอย่างแล้ว ที่คนไทยนำเงินมาเปิดหน้าร้านบนอีเบย์หลายแสนบาทตามคำแนะนำของหนังสือพอคเก็ ตบุ๊ค เพียงไม่กี่เดือน ก็ขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัวไป “อย่าขายสินค้าแบบไม่มีกลยุทธ์ เพราะคุณอาจจะหมดตัวได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าความเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ตเสียอีก”
เรื่องที่สอง ประเด็นการคุ้มครองผู้ซื้อ แต่ไม่คุ้มครองผู้ขาย โดยเฉพาะผู้ขายที่ไม่ใช่คนอเมริกัน เรื่องนี้ทำให้คนไทยเสียเปรียบและถูกโกงได้ง่ายครับ
กล่าวคือ เนื่องจากอีเบย์เกิดขึ้นที่อเมริกา ดังนั้น ปรัชญาและบริการของอีเบย์ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญของอเมริกา การคุ้มครองและการดูแล จึงให้บริการคนอเมริกันมากกว่าคนชาติอื่น ถ้ามีการโกงเกิดขึ้น ให้สมมติว่าคนซื้อถูกต้องไว้ก่อน ส่วนคนขาย โดยเฉพาะคนไทย น่าจะเป็นคนโกง เป็นคนที่มีปัญหา (หรือว่าเครดิตประเทศเราเป็นแบบนี้ ?)
ตัวอย่างที่พบแล้วเช่น คนไทยส่งงานศิลปะไปขายที่อเมริกา ตอนแรกคนอเมริกันก็ยินดีจ่ายเงิน แต่พอรับสินค้าไป ก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยอ้างว่าสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา มีน้ำหนักเบากว่าที่โฆษณา (คนไทยเวลาบอกน้ำหนักสินค้า มักจะรวมน้ำหนักหีบห่อไปด้วย)
ประเด็นที่สำคัญก็คือ สินค้าก็ไม่ส่งคืน ยึดไปเลยดื้อๆ เงินก็ไม่จ่าย ! ซึ่งคนไทยแม้ว่าจะประท้วงไปที่อีเบย์แล้ว ก็ไม่ได้ผล โดยทางอีเบย์บอกว่า ต้องไปแจ้งความที่ “ศาลโลก” แทน ! แล้วใครหน้าไหนจะไปพูดภาษาอังกฤษแจ้งฟ้องกับเมืองนอก ยิ่งไปกว่านั้น ค่าทนายค่าศาล จะคุ้มไหม ? เอาเป็นว่าให้อเมริกันหลอกไปฟรีๆ ดีกว่า
เรื่องนี้จึงรู้ซึ้งถึงธรรมชาติที่ว่า ทุกชาติย่อมร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนในชาติตัวเอง อเมริกาก็เช่นกัน “กฎหมายอเมริกัน” มีไว้เพื่อความยุติธรรมสำหรับ “คนในชาติเขา” ไม่ใช่สำหรับนอกประเทศ ดังนั้นการถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นเรื่องที่เราคนไทยต้องระวังตัวกันเอง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคนโกงจากไนจีเรีย อ้างว่าสนใจซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่อยากให้เราโอนเงินไปเข้าธนาคารก่อน ซื้อขายเสร็จแล้วเดี๋ยวส่งเงินคืน นัยว่าเพื่อเช็คเครดิตเรา จากนั้นก็เชิดเงินไปเลย ยังมีเรื่องขายสินค้าแล้วอีเบย์ระงับไม่จ่ายเงินให้เรา ต้องสอบสวนก่อนว่าทำไมเราได้เงินมากมายในระยะเวลาอันสั้น ทำไมขายสินค้าได้มาก หรือสงสัยว่าเราขายสินค้าปลอม ฯลฯ
อีเบย์ก็ตาม หรือลูกค้าต่างประเทศก็ตาม จะมีการโทรศัพท์ หรืออีเมลมาสอบถามเราได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ถ้ามีข้อสงสัยต่างๆ (สรุปว่า ยังไงเราก็ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ระดับหนึ่ง โดยมีคนแนะนำว่าให้พูดโดยใช้คีย์เวิร์ด ไม่ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษหรูๆ เป็นโคลงกลอนก็ได้)
บางที ถ้าเราสื่อสารกับอีเบย์ไม่รู้เรื่อง เงินที่เราควรจะได้ ก็อาจจะถูกดองไว้กว่าครึ่งปี นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการส่งของ เคลมของคืน การติดตามสินค้าที่ส่งโดยไปรษณีย์ที่ล่าช้า ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เงินทุนและรายได้ของผู้ค้ารายย่อยหมดไป ทำธุรกิจต่อไม่ได้ และนี่คือปัญหาและภัยมืดบางด้านที่ผมขอยกตัวอย่างมา ณ ที่นี้
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า “ธุรกิจคือความเสี่ยง” ไม่ว่าคุณจะค้าขายที่จตุจักร หรืออีเบย์ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยง อย่าได้คิดดี มองโลกดีว่า ถ้าเป็นเวบไซต์ระดับโลกอย่างอีเบย์แล้ว ทุกอย่างจะโสภา ตรงกันข้าม คุณกำลังทำธุรกิจกับคนร้ายระหว่างประเทศต่างหาก !
สุดท้ายนี้ จึงอยากเร่งให้ภาครัฐ จัดอบรมให้ความรู้กับคนไทยที่อยากค้าขายบนอีเบย์ ให้รู้ถึงโอกาสและภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเวบไซต์นี้ นอกจากนี้ อยากให้รัฐฯ เร่งเจรจากับอีเบย์ เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อ-ผู้ขายของคนไทย ให้ได้รับสิทธิที่เสมอภาค
ข้อมูลจากhttp://www.bangkokbizweek.com/20070301/ibiz/index.php?news=column_22900475.html
หมวดหมู่ของบทความ
การโดนลิมิต
(16)
การถ่ายรูปสินค้า
(5)
การลิสต์สินค้า
(12)
การส่งสินค้า
(23)
เกี่ยวกับร้านค้า store
(3)
เกี่ยวกับลูกค้า
(14)
ค่าธรรมเนียม
(7)
ซื้อของอีเบย์
(11)
ทั่วไปเกี่ยวกับอีเบย์
(29)
ทำความรู้จักกับอีเบย์
(12)
ประกาศจากอีเบย์
(9)
ปัญหาทั่วไป
(10)
เผยเทคนิคอีเบย์
(23)
เพพาล PayPal
(13)
มือใหม่
(13)
แม่แบบจดหมาย
(23)
เริ่มต้นธุรกิจแบบมืออาชีพ
(15)
สมัครเป็นคนขาย
(1)
ไอเดียขายสินค้า
(16)
amazon
(15)
etsy
(5)
feedback และ DSR
(14)
MC code แบบต่างๆ
(4)